19 กันยายน 2555
การจัดการธาตุอาหารที่เหมาะสมเพื่อการผลิตอ้อยปลูก ในดินเหนียวภาคกลาง
ดาวรุ่ง คงเทียน และคณะ
อ้อยเป็นพืชไร่เศรษฐกิจที่มีความสำคัญ นอกจากจะเป็นพืชอาหารและอุตสาหกรรมอื่นๆ แล้วยังมีศักยภาพสูงเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน โดยสามารถนำมาใช้ในการผลิตเอทานอลได้ทั้งรูปน้ำอ้อยสด กากน้ำตาล และมวลชีวภาพ (ลิกโนเซลลูโลส)
ในปี 2552/53 ภาคกลางมีพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 2,042,227 ไร่ และภาคเหนือประมาณ 1,252,193 ไร่ ผลผลิตอ้อย เฉลี่ย 10.0 ตัน/ไร่ (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร,2551) จากแนวนโยบายการพัฒนาอ้อยที่ให้รักษาพื้นที่ปลูก 7.0 ล้านไร่ และเพิ่มผลผลิตต่อไร่จาก 9.7 ตัน ในปี 2550 เป็น 15 ตัน ในปี 2555 ดังนั้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยให้มีศักยภาพสูงขึ้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเขตที่มีความหลากหลายทั้งสภาพภูมิอากาศ (ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ) และชนิดของดิน (เนื้อดิน ความเป็นกรด-ด่างของดิน และปริมาณธาตุอาหารในดิน)
เพื่อแก้ปัญหาการผลิตอ้อยในเขตภาคกลาง ที่ดินปลูกอ้อยส่วนใหญ่เป็นดินเหนียวที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงแต่ก็มีปัญหาด้านกายภาพและเคมีบางประการ ผู้วิจัยจึงได้ดำเนินการศึกษาการจัดการธาตุอาหารที่เหมาะสมในการเพิ่มผลผลิตอ้อยในสองชุดดิน ได้แก่ ชุดดินลำนารายณ์ และ ชุดดินลพบุรี เพื่อเป็นคำแนะนำแก่เกษตรกรที่ปลูกอ้อยให้จัดการดินที่ถูกต้องเหมาะสมและได้ผลผลิตสูง
ชุดดินลำนารายณ์ เป็นดินที่มีเนื้อดินเหนียวผสมกับทรายแป้ง เกิดจากการสลายตัวของหิน Basalt, Limestone, Andesite มีความลาดชัน 3-6 เปอร์เซ็นต์ ระบายน้ำดี น้ำใต้ดินต่ำกว่า 1.50 เมตร มีลักษณะการผสมกับเม็ดหินปูนกับเนื้อดิน ดินบนมีสีน้ำตาลเข้ม และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลปนแดงตามความลึกของดิน มีความอุดมสมบูรณ์ดี ลึกลงไปไม่เกิน 80 เซนติเมตรพบชั้นหินต้นกำเนิดสลายผุพังเห็นได้ชัด ปฏิกิริยาดินเป็นด่าง (pH 8.0)
ภาพที่ 1 ภาพหน้าตัดชุดดินลำนารายณ์
ชุดดินลพบุรี เป็นดินเหนียวจัด ความเหนียวชนิด 2:1 (Montmorillonite) มีการระบายน้ำไม่ดี ดินบนสีดำและเปลี่ยนเป็นเทาดำและเทาตามความลึกหน้าตัดดิน มีปฏิกิริยาเป็นกรดอ่อน-ด่าง (pH 6.5-8.5) มีความอุดมสมบรูณ์และปริมาณอินทรียวัตถุสูง ศักยภาพการผลิตสูง แต่ธาตุฟอสฟอรัสถูกตรึงเอาใว้ ทำให้พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้น้อย (สถาบันวิจัยพืชไร่, 2548) จึงแนะนำการใช้ปุ๋ยแบบเฉพาะพื้นที่กับพันธุ์อ้อยที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
ภาพที่ 2 ภาพหน้าตัดชุดดินลพบุรี
ผลการศึกษา พบว่า การปลูกอ้อยในชุดดินลำนารายณ์ที่ไม่มีการปรับปรุงดิน อ้อยปลูกให้ผลผลิต 25.49 ตัน/ไร่ แต่เมื่อปรับปรุงดินด้วยผงกำมะถันอัตรา 100 กก./ไร่ อ้อยปลูกให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 27.80 ตัน/ไร่ โดยอ้อยโคลน 94-2-106 มีศักยภาพในการให้ผลผลิตในชุดดินลำนารายณ์สูงกว่าพันธุ์ LK92-11 ผลผลิตของอ้อยโคลน 94-2-106 เฉลี่ย 27.98 ตัน/ไร่ ในขณะที่ผลผลิตของพันธุ์ LK92-11 เฉลี่ย 24.31 ตัน/ไร่ การปลูกอ้อยโคลน 94-2-106 ในชุดดินลำนารายณ์ทั้งในสภาพที่ไม่ปรับปรุงดินและปรับปรุงดินด้วยผงกำมะถันอัตรา 100 กก./ไร่ ควรใส่ปุ๋ย 6-6-6 กก.N-P2O5-K2O /ไร่ ส่วนอ้อยพันธุ์ LK92-11 ควรใส่ปุ๋ย 12-6-6 กก.N-P2O5-K2O/ไร่ จึงจะคุ้มค่าต่อการลงทุน
ภาพที่ 3 การเจริญเติบโตของอ้อยโคลน 94-2-106 เปรียบเทียบกับพันธุ์ LK92-11 ที่ปลูกในดินชุดลำนารายณ์
ส่วนการปลูกอ้อยในชุดดินลพบุรีในสภาพที่ไม่ปรับปรุงดิน พบว่า อ้อยปลูกให้ผลผลิต 21.46 ตัน/ไร่ แต่เมื่อปรับปรุงดินด้วยมูลไก่แกลบอัตรา 800 กก./ไร่(น้ำหนักแห้ง) อ้อยปลูกให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 22.26 ตัน/ไร่ โดยพันธุ์ขอนแก่น 3 ให้ผลผลิต 23.74 ตัน/ไร่ มีศักยภาพในการให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ LK92-11 ซึ่งให้ผลผลิต 19.97 ตัน/ไร่ การปรับปรุงดินด้วยมูลไก่แกลบอัตรา 800 กก./ไร่(น้ำหนักแห้ง)สามารถลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนลงได้ โดยการปลูกอ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 ในชุดดินลพบุรีที่ไม่ปรับปรุงดินควรใส่ปุ๋ย 12-6-6 กก.N-P2O5-K2O /ไร่ แต่ถ้าปรับปรุงดินด้วยมูลไก่แกลบอัตรา 800 กก./ไร่(น้ำหนักแห้ง)ควรใส่ปุ๋ย 6-6-6 กก.N-P2O5-K2O N/ไร่ ส่วนการปลูกอ้อยพันธุ์ LK92-11 ถ้าไม่ปรับปรุงดินควรใส่ปุ๋ย 18-6-6 กก.N-P2O5-K2O แต่ถ้าปรับปรุงดินด้วยมูลไก่แกลบอัตรา 800 กก./ไร่(น้ำหนักแห้ง)ควรใส่ปุ๋ย 6-6-6 กก.N-P2O5-K2O/ไร่ จึงจะคุ้มค่าต่อการลงทุน
ภาพที่ 4 อ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 ปลูกในสภาพที่มีการปรับปรุงดินด้วยมูลไก่แกลบ+ปุ๋ยเคมี 6-6-6 กก. N-P2O5-K2O ต่อไร่
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร.056-241019, email: nsfcrc@doa.in.th