29 สิงหาคม 2560

พันธุ์นครสวรรค์ 3 จากต้นน้ำสู่ปลายทาง


ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 จัดเป็นผลงานวิจัยเด่นของกรมวิชาการเกษตร โดยมีรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ประจำปี 2552 กรมวิชาการเกษตร สาขางานวิจัยประยุกต์ เป็นที่รับรอง
จากคุณสมบัติที่โดดเด่นด้านความทนทานแล้งและต้านทานต่อโรคราน้ำค้างซึ่งเป็นโรคที่สำคัญของข้าวโพด ทำให้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 เป็นที่ยอมรับและแพร่หลายในวงกว้าง ทั้งจากเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยังรวมไปถึงกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม อันประกอบไปด้วย เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร รวมถึงบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์เอกชนรายย่อย ผ่านการส่งเสริม เผยแพร่ กระจายพันธุ์ผ่านโครงการต่างๆ หลากหลายโครงการ อาทิ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม โครงการหมู่บ้านเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น ซึ่งจัดเป็นการบูรณาการงานวิจัยเพื่อนำผลงานวิจัยจากต้นน้ำ เผยแพร่สู่การนำไปใช้ประโยชน์ปลายน้ำ ที่ประสบความสำเร็จยิ่ง จากปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดพันธุ์ดี มีคุณภาพ ให้ผลผลิตสูง และลดความเสี่ยงต่อสภาวะฝนแล้ง รวมถึง หากเกษตรกรสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ใช้เองจะช่วยลดต้นทุนการผลิต เป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรได้
นอกจากนี้ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ได้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้พ่อและแม่ของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 คือสายพันธุ์แท้ตากฟ้า 1 พันธุ์แม่ และสายพันธุ์แท้ตากฟ้า 3 พันธุ์พ่อ สนับสนุนให้หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน สหกรณ์การเกษตร และเกษตรกร สามารถนำไปผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมที่มีคุณภาพเพื่อใช้ หรือจำหน่าย เป็นการเพิ่มช่องทางการกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 ออกสู่วงกว้างมากยิ่งขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจเมล็ดพันธุ์รายย่อยที่ยังขาดงานด้านวิจัยและพัฒนา ให้สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้าของตน ที่มีคุณภาพทัดเทียม และสามารถแข่งขันได้ในธุรกิจเมล็ดพันธุ์ สอดรับการเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชหรือ Seed Hub ในระดับสากล ซึ่งกรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน โดยมีการสนับสนุนให้เมล็ดพันธุ์พืชของไทยมีคุณภาพสามารถออกสู่ตลาดโลกเพื่อการแข่งขันได้เพิ่มมากขึ้น และพัฒนาอาชีพการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้มีความมั่นคง ยั่งยืนต่อไป

เส้นทางของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย
จุดเริ่ม ต้นน้ำ:  การวิจัยและพัฒนาพันธุ์  
          ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 เป็นผลผลิตจากโครงการวิจัยการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทนทานแล้ง เริ่มจากการพัฒนาข้าวโพดสายพันธุ์แท้พ่อแม่ ระหว่างปี 2543-2546 และพัฒนาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม ระหว่างปี 2547-2551 โดยนำสายพันธุ์แท้ตากฟ้า 1 และตากฟ้า 3 ผสมพันธุ์กัน ได้พันธุ์ข้าวโพดลูกผสมเดี่ยว NSX 042029 ซึ่งต่อมาได้ผ่านการรับรองพันธุ์และตั้งชื่อเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมนครสวรรค์ 3  ผ่านการประเมินผลผลิตในแหล่งปลูกข้าวโพดที่สำคัญของประเทศไทย ตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ ได้แก่ เปรียบเทียบเบื้องต้น เปรียบเทียบมาตรฐาน เปรียบเทียบในท้องถิ่น และเปรียบเทียบในไร่เกษตรกร ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีการการศึกษาและการประเมินลักษณะต่างๆ อาทิเช่น การประเมินความทนทานแล้ง การประเมินปฏิกิริยาการเกิดโรคราสนิม การประเมินปฏิกิริยาการเกิดโรคราน้ำค้าง การศึกษาความเสียหายของเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากการทำลายของด้วงงวงข้าวโพด การศึกษาอัตราแถวปลูกสายพันธุ์แท้พันธุ์พ่อ และแม่ที่เหมาะสม และการทดสอบการยอมรับของเกษตรกร เป็นต้น  ผ่านการรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตรให้เป็นพันธุ์รับรอง “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมนครสวรรค์ 3” ในปี 2552 และในปีเดียวกัน ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ประจำปี 2552 กรมวิชาการเกษตร สาขางานวิจัยประยุกต์

          ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมนครสวรรค์ 3 เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ตากฟ้า 1 เป็นสายพันธุ์แม่ และสายพันธุ์แท้ตากฟ้า 3 เป็นสายพันธุ์พ่อ  มีลักษณะเด่น คือ ทนทานแล้งในระยะข้าวโพดออกดอก ผลผลิตสูง ต้านทานโรคราน้ำค้าง โรคราสนิม และเก็บเกี่ยวง่าย ให้ผลผลิตเฉลี่ยในสภาพปกติ 1,106 กิโลกรัมต่อไร่ และผลผลิตเฉลี่ยในสภาพขาดน้ำในระยะออกดอก 836 กิโลกรัมต่อไร่ มีเสถียรภาพในการให้ผลผลิตดีสามารถปลูกได้ทั่วไปในสภาพการผลิตข้าวโพดของประเทศไทย

ก้าวเดิน กลางน้ำ : การผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมและสายพันธุ์แท้พ่อและแม่
          เพื่อให้ผลงานวิจัยนำไปใช้ประโยชน์ให้ถึงมือเกษตรกร หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ทางศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ จึงวางแผนการผลิตเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์คัดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ตากฟ้า 1  และ ตากฟ้า 3 ตั้งแต่ปี 2552 ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดของนักปรับปรุงพันธุ์พืช เพื่อให้ได้สายพันธุ์แท้ที่มีความบริสุทธิ์ของพันธุ์ สำหรับนำไปขยายเป็นเมล็ดพันธุ์หลักเพื่อให้เพียงพอต่อการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมนครสวรรค์ 3  นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ได้จัดทำโครงการนำร่องเพื่อความร่วมมือในและการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมนครสวรรค์ 3  ในเชิงพาณิชย์ ภายใต้สิทธิสัญญาประโยชน์การใช้สายพันธุ์แท้ข้าวโพดกรมวิชาการเกษตร ในปี 2550 ร่วมมือกับผู้ประกอบการ จำนวน 3 ราย  คือ บริษัท สุภิราชการเกษตรป้าว จำกัด  บริษัท ป้าวธุรกิจการเกษตร จำกัด และ บริษัทเชียงใหม่อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ ผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมนครสวรรค์ 3 จำหน่ายเชิงพาณิชย์  

        จากความสำเร็จในปี 2552 เป็นที่ประจักษ์ว่า การใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 สามารถลดต้นทุนการผลิตในด้านค่าเมล็ดพันธุ์ ประกอบกับพันธุ์นครสวรรค์ 3 มีศักยภาพในการให้ผลผลิตสูงและทนแล้ง จึงมีความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ตากฟ้า 1 และตากฟ้า 3 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 สำหรับไว้ใช้เองและจำหน่าย โดยในปี 2553 ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ตากฟ้า 1 จำนวน 1.5 ตัน และสายพันธุ์แท้ตากฟ้า 3 จำนวน 0.5 ตัน เพื่อจำหน่ายให้เกษตรกร ภาคเอกชน และภาครัฐ นำไปใช้ผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมในพื้นที่ 500 ไร่ ได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 จำนวน 125 ตัน ครอบคลุมพื้นที่ปลูก 41,666 ไร่

        การที่ความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้พ่อและแม่เพื่อผลิตลูกผสมนครสวรรค์ 3 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ทำให้ในปี 2559 และ 2560 ทางศูนย์พืชไร่นครสวรรค์ได้รับจัดสรรงบประมาณให้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ตากฟ้า 1 และสายพันธุ์แท้ตากฟ้า 3 เพิ่มขึ้น 25 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปริมาณการผลิตเมล็ดพันธุ์ในปี 2558 โดยมีปริมาณการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ตากฟ้า 1 จำนวน 15 ตัน และสายพันธุ์แท้ตากฟ้า 3 จำนวน 5 ตัน ครอบคลุมพื้นที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมจำนวน 5,000 ไร่

        การดำเนินงานตั้งแต่ปี 2553-2560 ได้ผลผลิตรวมทั้งหมดของเมล็ดพันธุ์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 จำนวน 6,113 ตัน ครอบคลุมพื้นที่ปลูก 2.03 ล้านไร่ (ตารางที่ 1) ซึ่งปริมาณความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยมีถึงปีละ 20,000 ตันต่อปี (เกรียงศักดิ์และคณะ, 2555) แม้ยอดการผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 จะผลิตได้เฉลี่ยเพียงปีละ 873 ตัน หรือ 4.4 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปริมาณความต้องการของประเทศก็ตาม แต่เป็นการสร้างโอกาสและสนับสนุนให้เกษตรกรได้ใช้พันธุ์ดีที่พัฒนาพันธุ์โดยกรมวิชาการเกษตร อีกทั้งเกษตรกรยังสามารถพึ่งพาตนเองโดยการผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ สามารถลดต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และยังเป็นการขยายผลงานวิจัยสู่การนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม (แผนภาพที่ 1)




ภาพที่ 1 แผนผังการผลิต และการใช้ประโยชน์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3

สู่เป้าหมาย ปลายน้ำ: การขยายเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์
          จากกระแสการตอบรับพันธุ์นครสวรรค์ 3 ทำให้มีความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์เพิ่มมากขึ้น โดยศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ มีการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้พ่อและแม่ พร้อมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 ให้กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร โดยในพื้นที่ 1 ไร่ มีความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์สายพันธุ์แท้ตากฟ้า 1 จำนวน 3 กิโลกรัม และสายพันธุ์แท้ตากฟ้า 3 จำนวน 1 กิโลกรัม โดยใช้อัตราแถวปลูกแม่ต่อพ่อ 4:1 แถว นอกจากนี้ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ยังให้บริการข้อมูลวิชาการและคำแนะนำแก่ผู้สนใจผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 และออกใบรับรองการซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ตากฟ้า 1 และตากฟ้า 3 ให้กับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร ใช้ประกอบการขออนุญาตรวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ (พ.พ) เพื่อเป็นการต่อยอดและสร้างโอกาสในการก้าวเข้าสู่ผู้ประกอบธุรกิจเมล็ดพันธุ์

          จำนวนผู้ใช้ประโยชน์เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้
          ผลจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม และการสร้างเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ให้กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สหกรณ์การเกษตร และเกษตรกร ตั้งแต่ปี 2553-2560 พบว่า ทุกภาคส่วนมีความสนใจผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี (ภาพที่ 2) ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาราคาเมล็ดพันธุ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เกษตรกรมีความเสี่ยงที่ต้องปลูกใหม่ ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการเพิ่มจำนวนของเกษตรกรที่สนใจผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง โดยในปี 2553 มีเกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์จำนวน 11 ราย ขณะที่ปี 2560 มีเกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้นถึง 186 ราย โดยประกอบด้วยเกษตรกรรายเดิมจำนวน 54 ราย เกษตรกรรายใหม่จำนวน 132 ราย รองลงมาได้แก่ ภาคเอกชน ที่มีผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้นจากเดิม 9 บริษัทในปี 2553 เป็นจำนวน 31 บริษัท ในปี 2559 แต่ในปี 2560 มีการรวมกลุ่มผู้ประกอบการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ผู้ประกอบการลดลงเหลือเพียงจำนวน 17 บริษัท



ภาพที่ 2 จำนวนผู้ใช้ประโยชน์เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ ปี 2553-2560


          ปริมาณการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3
          ปริมาณการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ที่ผลิตโดยศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ตั้งแต่ปี 2553-2560 จำนวน 96 ตัน พบว่า มีการนำใช้ประโยชน์ในระดับเกษตรกร และเชิงพาณิชย์ เป็นไปตามเป้าหมายของหน่วยงานและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยภาคเอกชนมีปริมาณการใช้ประโยชน์เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2553 มีปริมาณการใช้ประโยชน์จำนวน 1.3 ตัน เพิ่มปริมาณเป็น 5.1 ตัน ในปี 2560 สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 จำนวน 316 ตัน สำหรับจำหน่ายให้เกษตรกรภายใต้เครื่องหมายการค้าของตนเอง และส่งไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว และเวียดนาม เป็นต้น

         สหกรณ์การเกษตร เข้ามามีบทบาทการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา มีปริมาณการใช้ประโยชน์เมล็ดพันธุ์สายพันธุ์แท้อย่างต่อเนื่อง โดยในเฉพาะ
ปี 2557 สหกรณ์นิคมแม่สอด สหกรณ์นิคมแม่ระมาด และสหกรณ์การเกษตรแม่แจ่ม มีปริมาณการใช้ประโยชน์เมล็ดพันธุ์สายพันธุ์แท้สูงถึง 8.47 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2556 สหกรณ์จะมีกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่ายให้สมาชิกและเกษตรกรรายอื่น โดยในปี 2560 สหกรณ์มีพื้นที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 จำนวน 1,252 ไร่ สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 จำนวน 313 ตัน  (ภาพที่ 3) เป็นการเพิ่มช่องทางให้เกษตรกรได้เข้าถึงเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ และราคาถูก

          ในภาพรวมตั้งแต่ปี 2553-2560 พบว่า ปริมาณการใช้ประโยชน์เมล็ดพันธุ์สายพันธุ์แท้ในส่วนของภาคเอกชน สหกรณ์การเกษตร เกษตรกร กรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานรัฐอื่นๆ คิดเป็น 35 28 22 13 และ 2 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ (ภาพที่ 4)



ภาพที่ 3 ปริมาณการใช้ประโยชน์เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ ปี 2553-2560



ภาพที่ 4 สัดส่วนปริมาณการใช้ประโยชน์เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ ปี 2553-2560


       แหล่งผลิตและฤดูการผลิต
       การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 ส่วนใหญ่มีการผลิต 2 ฤดู คือ ฤดูแล้ง (ก.ย.-ธ.ค.) และฤดูฝน (พ.ค.-ส.ค.) คิดเป็น 40 และ 60 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ โดยอยู่ในเขตภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก คิดเป็น 79 18 2 และ 1 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ 
(ภาพที่ 5) จังหวัดที่มีพื้นที่การผลิตเมล็ดพันธุ์มากที่สุดได้แก่ เชียงใหม่ และตาก ตามลำดับ โดยได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 จากสหกรณ์การเกษตร และภาคเอกชน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพภูมิอากาศเหมาะสม ทำให้ได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ต่อไร่ที่สูงกว่าการผลิตในพื้นที่ภาคอื่นๆ รวมทั้งมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ เนื่องจากค่าแรงงานถูก



ภาพที่ 5  สัดส่วนพื้นที่การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 ปี 2553-2560 


การพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์
          ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ ให้มีการผลิตให้ได้คุณภาพเมล็ดพันธุ์ตามมาตรฐานของกรมวิชาการเกษตร โดยการจัดการฝึกอบรม ศึกษาดูงาน การทำแปลงต้นแบบ และร่วมเป็นวิทยากรให้กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร ในเรื่องเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ การปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ และตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์เบื้องต้น พร้อมทั้งติดตามและให้คำแนะนำแก่เกษตรกรผู้ที่สนใจผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 โดยปี 2553 -2560 ได้ดำเนินการฝึกอบรม ศึกษาดูงาน และฝึกงาน รวมทั้งเป็นวิทยากร จำนวนทั้งสิ้น 145 ครั้ง ให้แก่หน่วยงานภาครัฐ 525 ราย ภาคเอกชน 100 ราย และเกษตรกร 2,610 ราย รวมทั้งสิ้น 3,235 ราย (ตารางที่ 2)



สรุป

1. นำนวัตกรรมพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 ซึ่งมีศักยภาพให้ผลผลิตสูงและทนทานแล้งไปบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์ลูกผสมเพื่อให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตด้วยการผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง

2. พัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ ให้มีความเข้มแข็ง ยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้ พร้อมพัฒนาธุรกิจเมล็ดพันธุ์ไทยก้าวสู่ Seed Hub

3. พัฒนาศักยภาพของเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สู่ Smart Farmer และ Smart Group

เอกสารอ้างอิง
เกรียงศักดิ์ สุวรรณธาราดล พาโชค พงษ์พานิช และสรรเสริญ จำปาทอง. 2555. สามทศวรรษของ
ธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดไร่ลูกผสมในประเทศไทย. ว. แก่นเกษตร. 4: 16-30.


แหล่งที่มา :  พันธุ์นครสวรรค์ 3 จากต้นน้ำสู่ปลายทาง. การประชุมวิชาการสถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร ประจำปี 2560 วันที่ 29-30 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมระยองรีสอร์ท จังหวัดระยอง

เนื้อหา