18 ธันวาคม 2552

เตือนภัยโรคใบไหม้แผลใหญ่ในข้าวโพดหวาน

ในสภาพที่อากาศเย็นและมีความชื้นสูง มักพบการระบาดของโรคใบไหม้แผลใหญ่ในข้าวโพดหวานที่ปลูกในหลายพื้นที่ รวมทั้งพบการระบาดในจังหวัดนครสวรรค์โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวโพดติดต่อกันหลายฤดู สามารถพบการระบาดของโรคใบไหม้แผลใหญ่ตั้งแต่ต้นฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคมในปีที่ฝนตกชุก

เมื่อข้าวโพดเป็นโรคใบจะเกิดแผลขนาดใหญ่สีเทา หรือสีน้ำตาล แผลมีลักษณะยาวตามใบ หัวท้ายเรียวคล้ายรูปกระสวย แผลจะเกิดที่ใบล่างก่อนแล้วลามขึ้นสู่ใบบน ข้าวโพดหวานพันธุ์อ่อนแอจะแสดงอาการของโรคอย่างรุนแรงโดยแผลขยายรวมกันมีขนาดใหญ่ ทำให้ใบไหม้และแห้งตายในที่สุด นอกจากนี้ยังทำให้เกิดแผลที่กาบใบ ลำต้น และฝักได้ด้วย ต้นข้าวโพดหวานที่เป็นโรคใบไหม้แผลใหญ่อย่างรุนแรงจะทำให้การติดเมล็ดไม่สมบูรณ์ ฝักบิดเบี้ยว








การป้องกันกำจัด
เกษตรกรควรหมั่นตรวจแปลงอยู่เสมอ ตั้งแต่ระยะที่ข้าวโพดยังเล็ก ในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรงเมื่อพบข้าวโพดเริ่มแสดงอาการให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชชนิดใดชนิดหนึ่งดังต่อไปนี้

- โพรพิโคนาโซล (propiconazole) อัตรา 15 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร
- อะซอกซี่สะโตรบิน + ไดฟีโนโคนาโซล (azoxystrobin+difenoconazole) อัตรา 15 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ
- คาร์เบนดาซิม +อีพอกซี่โคนาโซล (carbendazim+epoxyconazole) อัตรา 25 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร

โดยพ่น 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 1 สัปดาห์ มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรค โดยไม่มีสารตกค้างในผลผลิต ข้าวโพดหวานให้ผลผลิตฝักสดทั้งเปลือก 2,675-3,040 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตฝักสดปอกเปลือกมาตรฐาน 1,399-1507 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตฝักสดปอกเปลือกมาตรฐานสูงกว่าการไม่ใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชถึง 89 เปอร์เซ็นต์

โดยมีต้นทุนสารป้องกันกำจัดโรคพืช 173-369 บาทต่อไร่ รายได้ 10,700 บาทต่อไร่ รายได้สุทธิ 7,251-8,913 บาทต่อไร่

อย่างไรก็ตามในการป้องกันกำจัดโรคใบไหม้แผลใหญ่เกษตรกรควรใช้วิธีการอื่นร่วมด้วย เช่น การปลูกพืชหมุนเวียน หรือใช้พันธุ์ต้านทาน เพื่อให้การปลูกข้าวโพดหวานมีความยั่งยืน

30 พฤศจิกายน 2552

พืชไร่นครสวรรค์ โชว์พันธุ์ข้าวโพด งานเกษตรแฟร์

เมื่อเร็วๆนี้ นายพิเชษฐ์ กรุดลอยมา ผอ.ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ได้นำผลงานวิจัยด้านพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมนครสวรรค์ 2 และ พันธุ์นครสวรรค์ 3 เข้าร่วมแสดงในงานเกษตรแฟร์ปากช่อง ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 26-29 พฤศจิกายน 2552 ณ ศูนย์วิจัยข้าวโพดข้าวฟ่างแห่งชาติ (ไร่สุวรรณ) อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยจัดแสดงในรูปแบบแปลงสาธิตและนิทรรศการ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทีได้นำผลงานพันธุ์ข้าวโพดมาจัดแสดงกว่า 100 พันธุ์/สายพันธุ์ เพื่อให้เกษตรกรและผู้สนใจได้รับทราบความก้าวหน้าในการวิจัยด้านพันธุ์ข้าวโพดของไทย ซึ่งมีหลากหลายพันธุ์ดีที่ให้ผลผลิตสูง สำหรับเลือกไปปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง

รถนำชมแปลงสาธิต

ส่วนนิทรรศการและแปลงสาธิตของศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์

ข้าวโพดลูกผสม พันธุ์นครสวรรค์ 2

ข้าวโพดลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3


บริษัทเอกชนนำพันธุ์ข้าวโพดมาแสดง

บริษัทเอกชนแสดงพันธูข้าวโพด

2 พฤศจิกายน 2552

กรมวิชาการเกษตรเฝ้าระวังวัตถุอันตราย 2 ชนิด

ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรกำลังติดตามและเฝ้าระวังวัตถุอันตรายทางการเกษตร จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ ไดโครโตฟอส และ สารทู, โฟร์-ดี เนื่องจากเป็นสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและต่อสิ่งแวดล้อม

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจงว่า เบื้องต้นได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรเฝ้าติดตามและตรวจสอบสารไดโครโตฟอส และสารทู, โฟร์-ดี อย่างเข้มงวดทั้งในโรงงานผลิต ร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตร รวมทั้งในแปลงของเกษตรกรซึ่งมีการใช้สารเคมีทั้งสองชนิดอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันกรมวิชาการเกษตรยังได้เร่งศึกษาและรวบรวมข้อมูลเพื่อเตรียมเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาประกาศให้สารเคมีทั้ง 2 ชนิด เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ที่ห้ามมิให้มีการผลิต นำเข้า ส่งออก และห้ามมีไว้ในครอบครอง เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีสารเคมีต้องห้ามตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายจำนวน 96 ชนิด

สารไดโครโตฟอส เป็นสารกำจัดแมลงศัตรูพืชที่เกษตรกรนิยมนำมาใช้กำจัดเพลี้ยแป้ง เพลี้ยอ่อน เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยไก่แจ้ เพลี้ยกระโดด หนอนม้วนใบ หนอนกระทู้กล้า หนอนกอ หนอนเจาะลำต้น หนอนใยผัก บั่ว มวนเขียว ด้วงเจาะสมอและไรชนิดต่างๆ ซึ่งภายหลังจากการใช้สารนี้ 8 ชั่วโมง สารจะถูกดูดซึมเข้าไปในต้นพืชมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ และสามารถออกฤทธิ์อยู่ได้นานถึง 7-21 วัน รวมทั้งหากใช้ไม่ถูกวิธีอาจทำให้เกิดปัญหาสารพิษตกค้างปนเปื้อนในผลผลิต

สารทู, โฟร์-ดีเป็นสารในกลุ่มเดียวกับสารทู, โฟร์, ไฟว์-ดี ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาใช้ในสงครามเวียดนามหรือที่เรียกว่าฝนเหลือง ซึ่งนอกจากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์แล้วยังตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นระยะเวลานานมาก เกษตรกรนำไปใช้กำจัดวัชพืชในนาข้าว ไร่ข้าวโพด ข้าวฟ่าง อ้อย หน่อไม่ฝรั่ง และบริเวณที่ไม่ได้ทำการเกษตร ซึ่งจากรายงานการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมพบว่าเป็นสารที่มีพิษค่อนข้างสูง ดังนั้นจึงต้องรวบรวมข้อมูลให้คระกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณายกเลิกและออกประกาศห้ามใช้ในอนาคตอันใกล้นี้

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้ย้ำในตอนท้ายอีกว่า นอกจากนี้กรมวิชาการเกษตรยังได้ปรับปรุงระบบการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรใหม่ โดยบริษัทต้องดำเนินการทดสอบประสิทธิภาพกับพืชที่ปลูกในไร่นาว่าเป็นไปตามคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่ระบุไว้หรือไม่ และยังต้องมีข้อมูลการทดสอบด้านพิษวิทยามาประกอบการขึ้นทะเบียน ห้ามใช้ข้อมูลของบริษัทอื่นมาอ้างอิงโดยเด็ดขาด

ที่มา : จดหมายข่าวเพื่อนเกษตร ปีที่ 5 ฉบับที่ 55 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2552

19 ตุลาคม 2552

เปิดบ้านงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร



เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน "เปิดบ้านงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร" และแสดงความยินดีในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากรมวิชาการเกษตรปีที่ 37 พร้อมด้วย นายศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติร่วมงาน โดยมีอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวรายงานและนำชมนิทรรศการ ณ บริเวณพื้นที่โดยรอบกรมวิชาการเกษตร บางเขน กรุงเทพฯ ซึ่งประกอบด้วยนิทรรศการผลงานวิจัยหลากหลายสาขาที่นำไปใช้ได้จริงจากหน่วยงานสังกัดกรมวิชาการเกษตร การสาธิตการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร รู้จักกับพืชพันธุ์ดีนานาชนิด ให้คำปรึกษาปัญหาการเกษตรกับผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ และเลือกซื้อสินค้าที่หลากหลาย ทั้งปัจจัยการผลิต ผลผลิตทางการเกษตร และผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีคุณภาพ
นายพิเชษฐ์ กรุดลอยมา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ เปิดเผยว่าได้นำผลงานวิจัยด้านพันธุ์พืชเข้าร่วมจัดนิทรรศการ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม พันธุ์นครสวรรค์ 3 ที่มีลักษณะดีเด่น คือให้ผลผลิตสูง ทนทานต่อความแห้งแล้ง ฝ้ายพันธุ์ที่มีเส้นใยสีเขียว และฝ้ายเส้นใยสีน้ำตาล ซึ่งเป็นฝ้ายคุณภาพดีประเภทเส้นใยยาว ทนต่อโรคใบหงิก และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเนื่องจากไม่จำเป็นต้องฟอกย้อม เหมาะที่จะนำไปเพิ่มมูลค่าแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีการสาธิตการปั่นด้าย และการกรอด้าย จำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ สบู่ข้าวโพด ข้าวเกรียบข้าวโพด และผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้าย โดยได้รับความสนใจจากประชาชนที่มาชมงานจำนวนมาก



15 ตุลาคม 2552

เครื่องเก็บเกี่ยวข้าวโพดแบบขับเคลื่อนด้วยตัวเอง

เครื่องเก็บเกี่ยวข้าวโพดแบบขับเคลื่อนด้วยตัวเอง
เป็นผลงานเด่นของกรมวิชาการเกษตร ปี 2551 โดยได้รับรางวัลชมเชยประเภทงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์คิดค้น ผู้คิดค้นคือนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาต้นแบบเครื่องเก็บเกี่ยวข้าวโพดที่มีระบบขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ซึ่งปัญหาจากการขาดแคลนแรงงานประกอบกับค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวสูง จึงได้มีการพัฒนาเครื่องเกี่ยวนวดข้าวซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยนำมาดัดแปลงให้สามารถเกี่ยวนวดข้าวโพดได้ 2 แบบ คือ แบบตัดทั้งต้น และแบบปลิดเฉพาะฝัก
เครื่องเก็บเกี่ยวข้าวโพดแบบตัดทั้งต้น ได้พัฒนาชุดหัวเกี่ยวบางส่วน และระบบนวดกะเทาะ จนสามารถเก็บเกี่ยวข้าวโพดทั้งต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีอัตราการทำงาน 2-4 ไร่ต่อชั่วโมง อัตราการแตกหักต่ำกว่า 2 % มีสิ่งเจือปนและอัตราการสูญเสียของเมล็ดต่ำกว่า 1 % และสามารถเก็บเกี่ยวได้ทุกระยะห่างของแถวปลูก
เครื่องเก็บเกี่ยวข้าวโพดแบบปลิดเฉพาะฝัก ได้เปลี่ยนหัวเกี่ยวข้าวที่ใช้ใบมีดตัดเป็นชุดหัวปลิดฝักข้าวโพดขนาด 4 แถว แทน และพัฒนาระบบนวดกะเทาะจนเหมาะสำหรับใช้กับข้าวโพดที่ปลิดเฉพาะฝัก มีอัตราการทำงานมากกว่า 6 ไร่ต่อชั่วโมง และมีอัตราการสูญเสียของเมล็ดและสิ่งเจือปนต่ำกว่า 1% เหมาะสำหรับเก็บเกี่ยวข้าวโพดในแปลงที่มีระยะห่างของแถวปลูก 75 เซนติเมตร
นอกจากนั้นเครื่องทั้งสองแบบยังสามารถทำงานในแปลงที่มีสภาพเปียกแฉะได้ ช่วยให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวข้าวโพดได้ในเวลาที่ต้องการ และมีความคุ้มค่าต่อการลงทุนเนื่องจากช่วยลดต้นทุนขั้นตอนการเก็บเกี่ยวได้ไม่น้อยกว่า 20% ผลงานวิจัยนี้ยังสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาหรือดัดแปลงสำหรับใช้กับพืชอื่นๆ หรือปรับให้ใช้ได้ทั้งเก็บเกี่ยวข้าวและข้าวโพด

12 ตุลาคม 2552

มารู้จัก..โรคราสนิมของข้าวโพด

โรคราสนิม (southern corn rust)
โรคราสนิมที่เกิดจากเชื้อ Puccinia polysora Underw พบครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาโดย Underwood โดยเข้าทำลายพืชที่มีพันธุกรรมใกล้เคียงกับข้าวโพดคือ Tripsacum dactyloides ในรัฐอลาบามา สหรัฐอเมริกา ต่อมาพบในพืช Erianthus ซึ่งเป็นพืชตระกูลหญ้าซึ่งมีพันธุกรรมใกล้เคียงกับอ้อย ส่วนการเข้าทำลายข้าวโพดครั้งแรกรายงานโดย Cummins ( Orian, 1954; Ullstrup, 1950) โรคราสนิมที่เกิดจากเชื้อรา P. polysora ระบาดแพร่หลายในเขตร้อนชื้น (tropical) และกึ่งร้อนชื้น (subtropical) ในปี ค.ศ. 1949 พบการระบาดที่อัฟริกา (Robinson, 1973) ปี 1949 เริ่มระบาดแถบ corn belt หลังจากนั้นเริ่มกระจายออกไปในหลายพื้นที่ปลูก 

สำหรับประเทศไทยโรคราสนิมมีความสำคัญยิ่งโรคหนึ่ง มีรายงานการระบาดของโรคราสนิม ในปี พ.ศ. 2527 โดยสร้างความเสียหายให้กับข้าวโพดในท้องที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา (อุดม, 2529) นอกจากนี้ยังพบการระบาดในพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวโพดอย่างต่อเนื่อง เช่น การปลูกข้าวโพดหวานเพื่ออุตสาหกรรม อีกประการหนึ่งคือการกระจายของน้ำฝนไม่สม่ำเสมอ ทำให้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีหลายฤดูปลูก จึงมีพืชอาศัยของโรคตลอดทั้งปีเป็นแหล่งแพร่เชื้อไปสู่ต้นที่ปลูกภายหลัง ปลายฤดูฝน (สิงหาคม-พฤศจิกายน) เป็นช่วงที่เกิดโรครุนแรงที่สุด (ประชุม และคณะ, 2546) การเขตกรรมและพันธุ์ข้าวโพดที่ปลูกมีผลต่อการระบาดของโรคราสนิม (southern rust) (Futrell, 1975) ปัจจุบันแหล่งที่พบว่ามีการระบาดของโรคอย่างรุนแรง ได้แก่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เลย เชียงใหม่ ตาก และ สงขลา (ชุติมันต์ และเตือนใจ, 2545) 



อาการของโรค ลักษณะอาการของโรคราสนิม (Southern rust) จะเกิดตุ่มนูนของสปอร์ (pustule) ขนาด 0.2-1.3 มิลลิเมตร ตุ่มสปอร์ของโรคราสนิมที่เกิดจากเชื้อรา P. polysora ต่างจากตุ่มสปอร์ที่เกิดจากเชื้อรา P. sorghi ทั้งขนาด รูปร่าง และสี นอกจากนี้ลักษณะแตกต่างที่สำคัญคือโรคราสนิมที่เกิดจากเชื้อรา P. polysora จะมีความรุนแรงมากกว่า สามารถทำให้ข้าวโพดแห้งตายได้ (Rodriguez-Ardon et al., 1980) ตุ่มของสปอร์ของโรคราสนิมเกิดได้ทั้งด้านบนและด้านล่างของใบ แต่จะพบมากด้านบนของใบ โรคราสนิมสามารถเกิดได้ทุกส่วนของพืช ไม่ว่าบนใบ กาบใบ ลำต้น กาบหุ้มฝัก และช่อดอกตัวผู้ ระยะแรกตุ่มสปอร์จะมีสีน้ำตาลอ่อน ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง เมื่อตุ่มสปอร์แตกออกจะพบผงสีสนิมเหล็ก เป็นหน่วยสืบพันธุ์ของเชื้อที่เรียกว่า uredospore 

ความเสียหายที่เกิดจากโรคราสนิม เมื่อเชื้อสาเหตุโรคราสนิมเข้าทำลายข้าวโพดจะทำให้พื้นที่ใบสูญเสียการสังเคราะห์แสง เกิดอาการใบซีด (chlorosis) และใบแก่เร็วขึ้นทำให้การสร้างเมล็ดไม่สมบูรณ์จึงมีผลต่อผลผลิต ความเสียหายของผลผลิตมีมากขึ้นเมื่อข้าวโพดถูกทำลายเมื่อข้าวโพดยังเล็กและโรคราสนิมลามขึ้นไปถึงใบที่อยู่เหนือฝัก (Biswanath, 2008) ความเสียหายของผลผลิตข้าวโพดเนื่องมาจากการทำลายของโรคราสนิมนอกจากจะขึ้นกับอาการของโรคแล้ว ยังขึ้นอยู่กับชนิดและพันธุ์ข้าวโพด ตลอดจนปัจจัยอื่นที่มีผลต่อการเจริญของข้าวโพด เช่น ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ความชื้นในดิน ซึ่งจะทำให้ข้าวโพดที่เป็นโรคระดับเดียวกันเป็นโรครุนแรงต่างกันได้ Pataky และ Eastburn (1993) รายงานความเสียหายในข้าวโพดหวานที่มีระดับความต้านทานแตกต่างกัน ในข้าวโพดหวานพันธุ์ต้านทานที่เป็นโรคราสนิม 1-20 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ผลผลิตลดลง 0-12 เปอร์เซ็นต์ พันธุต้านทานปานกลางที่เป็นโรค 8-30 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตจะลดลง 5-18 เปอร์เซ็นต์ พันธุ์อ่อนแอปานกลางที่เป็นโรครุนแรง 15-40 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตจะลดลง 9-24 เปอร์เซ็นต์ และพันธุ์อ่อนแอที่เป็นโรครุนแรง 25-75 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตลดลง 15-45 เปอร์เซ็นต์ 

การป้องกันกำจัด การจัดการโรคทำได้หลายวิธีการตั้งแต่การใช้พันธุ์ต้านทาน การใช้สารเคมีและการจัดการด้านเขตกรรม ปกติโรคที่เข้าทำลายข้าวโพดในระยะออกดอก หรือหลังออกดอก แนวทางการแก้ไขคือต้องปรับปรุงพันธุ์ให้ต้านทานต่อโรคนี้ (ประชุม et al., 2549) ซึ่งจะมีการคัดเลือกเชื้อพันธุกรรมข้าวโพดที่มีลักษณะต้านทานทั้งแบบคุณภาพและปริมาณ (Chavez-Medina et al., 2007) มาใช้เป็นแหล่งในการสร้างพันธุ์ข้าวโพดที่ต้านทานต่อโรค ขณะเดียวกันก็มีการศึกษาสารเคมีที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันโรคนี้ไว้ด้วยสำหรับแก้ปัญหาในระยะสั้น

ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืชเมื่อพบโรคราสนิมในข้าวโพด มีข้อควรพิจารณาหลายประการ เช่น ความคุ้มค่า โดยเฉพาะเมื่อราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตกต่ำ การใช้สารเคมีควรคำนึงถึงผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ ควรพ่นเมื่อเริ่มมีอาการของโรคในพันธุ์อ่อนแอที่มีศักยภาพในการให้ผลผลิตและผลตอบแทนคุ้มค่า เช่น ในแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสม หรือแปลงผลิตสายพันธุ์แท้ซึ่งเป็นสายพันธุ์พ่อ-แม่ และตรวจสอบสภาพภูมิอากาศ เช่น อุณหภูมิ และความชื้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมต่อการแพร่ระบาดของโรคด้วย หากมีสภาพแวดล้อมต่อการเกิดโรคเหมาะสม ควรพิจารณาป้องกันกำจัด 

การป้องกันกำจัดให้พ่นด้วยสารกำจัดโรคพืช ไดฟีโนโคนาโซล (difenoconazole) หรือ ไซโปรโคนาโซล (cyproconazole) เมื่อข้าวโพดเริ่มแสดงอาการจึงจะได้ผลดี (สมเกียรติ และดิลก, 2533) นอกจากนี้ยังพบว่า ไดฟีโนโคนาโซล 15% + โพรพิโคนาโซล 15% อัตรา 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ผลในการควบคุมโรคได้ดีที่สุดและให้ผลผลิตสูงที่สุด (ประชุม et al., 2549) 

คำแนะนำสำหรับการป้องกันกำจัดโรคราสนิมของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยไม่แนะนำให้ใช้สารเคมีเนื่องจากเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติและไม่คุ้มต่อการลงทุน ดังนั้นการแนะนำให้เกษตรปลูกพันธุ์ต้านทานต่อโรคเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและมีโอกาสประสบความสำเร็จมากที่สุด (เบญจพรรณ, 2546)

ตุ่มสปอร์ (pustule) บนใบข้าวโพด เมื่อแตกออก จะ เห็น uredospores จำนวนมาก

ลักษณะ uredospore ของเชื้อรา P. polysora

17 กันยายน 2552

จากเส้นใยฝ้าย...สู่ผ้าไตรจีวร งานบุญจุลกฐิน...ที่ตากฟ้า

อำเภอตากฟ้าร่วมกับหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน และพ่อค้าประชาชน ได้กำหนดจัดงานบุญมหากุศลพิธีทอดผ้าจุลกฐิน เพื่ออนุรักษ์และสืบทอดประเพณีสำคัญทางพุทธศาสนาให้เป็นเอกลักษณ์ของชาวอำเภอตากฟ้าเป็นประจำทุกปีต่อไป ในปีนี้คณะกรรมการกำหนดจัดงานขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม 2552 ณ วัดโคกขามสามัคคีธรรม ต.อุดมธัญญา อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ ในการดังกล่าวได้มีพิธีปลูกฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 2 ไปเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อให้ได้ปุยฝ้ายนำมาทอผ้าไตรจีจร โดยศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ได้สนับสนุนเมล็ดพันธุ์และให้คำแนะนำในการดูแลรักษา จะเริ่มเก็บปุยฝ้ายได้ประมาณวันที่ 15 ตุลาคม นี้
คำว่าจุลกฐินนั้น คือ คำเรียกการทอดกฐินที่ต้องทำด้วยความรีบด่วน โดยต้องอาศัยความสามัคคีของผู้ศรัทธาจำนวนมาก เพื่อผลิตผ้าไตรจีวรให้สำเร็จด้วยมือภายในวันเดียว กล่าวคือ ต้องเริ่มตั้งแต่เก็บฝ้าย ปั่นฝ้าย ทอผ้า ย้อมและตัดเย็บ และถวายให้พระสงฆ์กรานกฐินให้เสร็จภายในเวลาเช้าวันหนึ่งจนถึงย่ำรุ่งของอีกวันหนึ่ง ดังนั้นโบราณจึงนับถือกันว่าการทำจุลกฐินมีอานิสงส์มาก เพราะต้องใช้ความอุตสาหะพยายามมากกว่ากฐินแบบธรรมดา (มหากฐิน) ภายในระยะเวลาอันจำกัด โดยจุลกฐินนี้ปัจจุบันมักจัดเป็นงานใหญ่อาศัยความร่วมมือของคนทั้งชุมชนและ มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก สาเหตุประการหนึ่งที่มีการทำจุลกฐิน เนื่องมาจากกำหนดการกรานกฐินนั้นมีระยะเวลาจำกัด และพระสงฆ์ไม่สามารถขวนขวายดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งผ้ากฐินเองได้ เพราะจะทำให้กฐินเดาะ (สังฆกรรมเสีย) จึงอาจมีบางวัดที่ใกล้กำหนดหมดฤดูกฐินแต่ยังไม่มีผู้นำผ้ากฐินมาถวาย ทำให้ในสมัยก่อนเมื่อใกล้เดือน ๑๒ (หมดฤดูกฐิน) มักจะมีผู้ศรัทธาตระเวนไปตามวัดต่าง ๆ เมื่อเจอวัดที่ยังไม่ได้รับถวายผ้ากฐิน จึงต้องเร่งรีบขวนขวายจัดการทำผ้ากฐินให้เสร็จทันฤดูกฐินหมด ซึ่งบางครั้งอาจเหลือเวลาแค่วันเดียว จึงต้องร่วมกันจัดทำผ้าไตรจีวรให้สำเร็จก่อนหมดฤดูกฐิน

ผวจ.นครสวรรค์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และนายอำเภอตากฟ้าปลูกฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 2 ณ วัดโคกขามสามัคคีธรรม เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.52
แปลงฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 2 อายุประมาณ 80 วัน ภายในบริเวณวัดโคกขามสามัคคีธรรม กำลังออกดอก ติดสมอ

3 กันยายน 2552

เรื่องน่ารู้..โรคใบจุดมันสำปะหลัง









โรคใบจุดมันสำปะหลัง
เกิดจากเชื้อรา เซอร์คอสปอริเดียม เฮ็นนิงซิไอ ในประเทศไทย พบว่า มันสำปะหลังเกือบทุกพันธุ์เป็นโรคใบจุดสีน้ำตาล ความรุนแรงของโรคขึ้นกับพันธุ์ อายุพืชและสภาพแวดล้อม มันสำปะหลังที่มีอายุ 3-5 เดือน จะมีความต้านทานต่อโรคนี้มากกว่ามันสำปะหลังที่มีอายุ 14-16 เดือน และสามารถพบโรคในแหล่งที่มีความชื้นต่ำและแห้งแล้งได้ โรคใบจุดสีน้ำตาลนี้จะไม่ทำให้ผลผลิตของมันสำปะหลังลดลงมากนัก ผลผลิตจะแตกต่างเฉพาะในพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรค พันธุ์ที่เป็นโรคในระดับปานกลาง พบว่า ทำให้ผลผลิตลดลงตั้งแต่ 14-20 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากทำให้ใบร่วงเร็วกว่าปกติ ทำให้พุ่มใบเปิดเป็นโอกาสให้วัชพืชเจริญได้ดี อันเป็นผลทางอ้อมทำให้ผลผลิตของมันสำปะหลังลดลง

ลักษณะอาการ
โดยทั่วไปต้นที่เป็นโรคมีการเจริญเติบโตเป็นปกติ จะพบอาการของโรคบนใบล่าง ๆ มากกว่าใบบน มีรายงานว่าใบมันสำปะหลังอายุ 5-15 วัน จะทนทานต่อการเกิดโรค และจะเริ่มเป็นโรคได้เมื่ออายุ 25 วันขึ้นไป โดยเกิดอาการใบจุดค่อนข้างเหลี่ยมตามเส้นใบ มีสีน้ำตาล ขนาด 3-15 มิลลิเมตร มีขอบชัดเจน จุดแผลด้านหลังใบมีสีเทา เนื่องจากมีเส้นใยและส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อสาเหตุ ในพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรค แผลจะล้อมรอบด้วยวงสีเหลือง ตรงกลางแผลอาจจะแห้งและหลุดเป็นรู

การแพร่ระบาด
เชื้อราสาเหตุของโรคสามารถอาศัยอยู่บนใบมันสำปะหลังที่ร่วงอยู่ในแปลง แพร่ระบาดโดยการสร้างสปอร์ เมื่อมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม สปอร์เหล่านี้จะแพร่กระจายไปโดยลม หรือเม็ดฝนพาไปตกบนใบ ทำให้เกิดการแพร่โรคได้ต่อไป
ความชื้น อุณหภูมิ อายุของพืช และความอุดมสมบูรณ์ของดินมีความสำคัญต่อการแพร่ระบาดของโรค กล่าวคือ เชื้อสาเหตุจะสร้างสปอร์เมื่อมีความชื้นสัมพัทธ์ระหว่าง 50-90 เปอร์เซ็นต์ อุณหภูมิที่ทำให้สปอร์งอกดีที่สุดอยู่ระหว่าง 39-43 องศาเซลเซียส ดังนั้นเราจึงสามารถพบโรคใบจุดสีน้ำตาลในแหล่งที่มีความชื้นต่ำและแห้งแล้ง

การป้องกันกำจัด
ปกติโรคใบจุดพบได้ทั่วไป แต่ไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิต
1. ใช้พันธุ์แนะนำ ซึ่งมีความต้านทานโรคปานกลาง
2. เมื่อพบโรคระบาดรุนแรง พ่นด้วยสารเคมีพวกคอปเปอร์ หรือ เบโนมิล

14 กรกฎาคม 2552

เปิดงานวันชาวไร่...ประชาชนร่วมงานคับคั่ง

นายศุภกิจ บุญฤทธิพงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ และ นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  ร่วมเปิดงานมหกรรมวันชาวไร่ 36 ปี กรมวิชาการเกษตร ณ ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ในวันที่ 30 มิถุนายน 52 ภายในงานมีการจัดนิทรรศการของหน่วยราชการและเอกชน 39 หน่วยงาน การสาธิตแปรรูปผลิตผลการเกษตร สาธิตเครื่องเก็บเกี่ยวข้าวโพด และเครื่องจักรกลเกษตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้และผลงานด้านวิชาการให้แก่เกษตรกรและบุคคลทั่วไป หลังพิธีเปิด ผวจ. นครสวรรค์ และอธิบดี ได้เดินชมแปลงและนิทรรศการ จนกระทั่งเวลาประมาณ 15 .00 น. ประธานในพิธีได้เดินทางกลับ

นายพิเซษฐ์ กรุดลอยมา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ เปิดเผยว่า มีเกษตรกรและประชาชนให้ความสนใจเข้าชมแปลงสาธิตและนิทรรศการ กว่า 2,300 คน ทั้งนี้ผู้ที่ไม่ได้มาร่วมงานในวันดังกล่าวยังสามารถเข้าชมแปลงสาธิตพันธุ์พืชไร่ 14 ชนิด รวม 62 พันธุ์ บนเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ ได้ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ตั้งแต่บัดนี้จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 52


แปลงสาธิตพันธุ์พืชไร่


อีกมุมมองของแปลงสาธิต


แปลงข้าวโพดพันธุ์ "นครสวรรค์ 3" สำหรับใช้สาธิตเครื่องเก็บเกี่ยวข้าวโพด


ประชาชนร่วมพิธีเปิดงาน


นักเรียนจากโรงเรียนในพื้นที่ร่วมงาน


ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์กล่าวต้อนรับ


อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวเปิดงาน


ผวจ.นครสวรรค์ และอธิบดี กวก. ร่วมกดปุ่มเปิดงานวันชาวไร่


ผวจ.นครสวรรค์ อธิบดี กวก. หัวหน้าส่วนราชการ ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก


เยี่ยมชมแปลงสาธิต


การให้บริการวิชาการ ต่ออายุ-ขอใบอนุญาตจำหน่ายปุ๋ย-วัตถุอันตรายและเมล็ดพันธุ์พืช


เกษตรกรขอรับคำปรึกษาปัญหาศัตรูพืชจากคลินิกพืช


อธิบดี กวก. เยี่ยมชมการให้บริการคลินิกพืช และสนทนากับเกษตรกร


นักเรียนจาก ร.ร วัดประชาสรรค์ให้ความสนใจเชื้อสาเหตุโรคพืช


สีสันของงานที่แท้จริง.. พระ-เณรกว่า 300 รูป จากวัดตากฟ้า เข้าศึกษาในแปลงสาธิต


อธิบดี กวก. มอบรางวัลข้าวโพดลูกผสม นครสวรรค์ 3 แก่เกษตรกรที่ร่วมกิจกรรมตอบปัญหา


สาธิตเครื่องเก็บเกี่ยวข้าวโพด

4 มิถุนายน 2552

มหกรรมวันชาวไร่ 36 ปี กรมวิชาการเกษตร


นายพิเชษฐ์ กรุดลอยมา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ เผยว่า ในโอกาสสถาปนาครบรอบ 36 ปีของกรมวิชาการเกษตร ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ได้กำหนดให้มีการจัดงานมหกรรมวันชาวไร่ ในวันที่ 30 มิถุนายน 2552 ณ ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ต.สุขสำราญ อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้และผลงานด้านวิชาการให้แก่เกษตรกรและบุคคลทั่วไป กิจกรรมหลักของงานประกอบด้วยการจัดแสดงแปลงสาธิตพันธุ์พืชไร่ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย มันสำปะหลัง งา พืชตระกูลถั่ว สาธิตเครื่องจักรกลการเกษตร สาธิตการแปรรูปผลิตผลเกษตร การจัดแสดงนิทรรศการด้านการเกษตรจากหน่วยราชการและเอกชน นอกจากนี้ยังให้บริการคลินิกพืช บริการวิเคราะห์ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ต่อใบอนุญาตและออกใบอนุญาตจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตร-ปุ๋ย-เมล็ดพันธุ์พืช จำหน่ายสินค้าแปรรูปและผักปลอดสารพิษ คาดว่าจะมีเกษตรกรมาร่วมงานไม่น้อยกว่า 500 คน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.0-5624-1019

6 พฤษภาคม 2552

เกษตรฯ เปิดตัวพืชพันธุ์ใหม่ให้ผลผลิตสูง


กรมวิชาการเกษตร โชว์สุดยอดผลงานวิจัย 5 พืชพันธุ์ใหม่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย มันสำปะหลัง ถั่วเขียว กาแฟ ทุกพันธุ์ล้วนให้ผลผลิตสูง พร้อมเดินหน้าผลิตพันธุ์หลักให้เกษตรกรนำไปปลูก
เมื่อเร็วๆ นี้ นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าในแต่ละปีกรมวิชาการเกษตรจะมีพันธุ์พืชใหม่ๆ แนะนำออกสู่ไร่นาของเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ในปี 2552 นี้ กรมวิชาการเกษตรมีพันธุ์พืชใหม่ที่สำคัญที่จะแนะนำให้เกษตรกรนำไปปลูก จำนวน 5 พันธุ์ ได้แก่ อ้อยพันธุ์อู่ทอง 8 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมนครสวรรค์ 3 มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9 กาแฟอาราบิก้าพันธุ์เชียงใหม่ 80 และถั่วเขียวผิวดำพันธุ์ชัยนาท 80 ในโอกาสนี้ได้มอบพันธุ์พืชทั้ง 5 ชนิดให้เกษตรกรเพื่อนำไปปลูก ในส่วนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาชายธง คุณวินัย ฟักขาว และ คุณสุชิน แหวนเพชร เกษตรกรจาก ต.ลำพยนต์ อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ ได้เดินทางเข้ารับมอบเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 และสายพันธุ์แท้พ่อ-แม่ จากรัฐมนตรีว่าการฯ สำหรับนำไปผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมนครสวรรค์ 3 ซึ่งพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์โดยศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์จนได้พันธุ์ที่มีคุณสมบัติตามต้องการคือ ให้ผลผลิตสูงใกล้เคียงกับพันธุ์ลูกผสมการค้า มีความทนทานแล้งในระยะออกดอก สามารถเก็บเกี่ยวด้วยมือง่าย
พร้อมกันนี้ นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ยืนยันว่า พันธุ์พืชทั้ง 5 ชนิดนี้ กรมวิชาการเกษตรมีความพร้อมในการจัดเตรียมเมล็ดพันธุ์ให้กับเกษตรกรผู้สนใจได้นำไปเพาะปลูกในฤดูกาลเพาะปลูกที่จะถึงนี้ หากเกษตรกรสนใจสามารถคิดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์วิจัย ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าของผลงานการปรับปรุงพันธุ์พืชชนิดนั้นๆ

22 เมษายน 2552

เตือนภัย... การระบาดของเพลี้ยแป้ง

นายพิเชษฐ์ กรุดลอยมา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การระบาดของศัตรูพืชในช่วงฤดูแล้ง พบการระบาดของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลังอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในมันสำปะหลังต้นโตที่ยังไม่มีการเก็บเกี่ยว สภาพที่เหมาะสมต่อการระบาดได้แก่สภาพที่อากาศแห้งแล้ง หากฝนยังทิ้งช่วงต่อไปอาจมีการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้งเข้าทำลายมันสำปะหลังที่ปลูกใหม่ ตลอดจนพืชชนิดอื่น เช่น ข้าวโพด งา เพลี้ยแป้งเป็นแมลงจำพวกปากดูด จะดูดกินน้ำเลี้ยงตามส่วนต่างๆ ของพืช เช่น ใบ ยอด ตา ทำให้มันสำปะหลังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ลำต้นมีข้อถี่ ใบแตกพุ่ม ยอดเป็นกระจุก ต้นแห้งตาย ถ้าเข้าทำลายขณะมันสำปะหลังยังเล็กจะมีผลต่อการลงหัว
นางสาวศิวิไล ลาภบรรจบ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ เปิดเผยถึงแนวทางในการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง ว่า ในมันสำปะหลังต้นโตที่มีการระบาดให้เกษตรกรรีบเก็บเกี่ยวเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมและแพร่กระจายไปยังแปลงอื่น จากนั้นทำความสะอาดแปลง เก็บเศษซากพืชออกหลังเก็บเกี่ยว ไม่ควรใช้ท่อนพันธุ์จากแหล่งที่พบเพลี้ยแป้งระบาด สำหรับแปลงที่ปลูกใหม่หากพบการทำลายของเพลี้ยแป้ง ให้ถอนต้นหรือตัดส่วนที่พบเพลี้ยแป้งมากๆ ใส่ถุง แล้วเผาทำลายนอกแปลง หากมีการระบาดในวงกว้างและจำเป็นต้องใช้สารเคมี ให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลงไทอะมีโทแซม 25% ดับเบิลยูจี หรือโปรไทโอฟอส 50% อีซี อัตรา 4 กรัม หรือ 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร หรือใช้สารชนิดใดชนิดหนึ่งดังกล่าวลดอัตราลงครึ่งหนึ่งผสมกับไวท์ออยล์ อัตรา 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร โดยผสมไวท์ออยล์ในน้ำเพียงเล็กน้อยใช้ไม้กวนให้เข้ากัน เติมสารฆ่าแมลงแล้วเติมน้ำให้ครบที่กำหนด


27 มีนาคม 2552

คลินิกเกษตรเคลื่อนที่..อ.โกรกพระ

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2552 ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ได้เข้าร่วมให้บริการคลินิกพืช ในการจัดงานกิจฏรรมคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ ณ วัดบางประมุง หมู่ที่ 5 ต.บางประมุง อ.โกรกพระ จ.นครสวรรค์ โดยมี นายศุภกิจ บุญญฤทธิพงษ์ ผวจ.นครสวรรค์ เป็นประธานในการเปิดงาน กิจกรรมการที่ให้บริการในคลินิกพืช มีดังนี้
1. จัดนิทรรศการด้านพืช พันธุ์พืช และ การป้องกันกำจัดศัตรูพืช
2. ให้คำแนะนำด้านการผลิตพืช และการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแก่เกษตรกร
3. แจกเอกสารวิชาการแก่เกษตรกร และผู้สนใจ
4. แนะนำพันธุ์มันสำปะหลัง ได้แก่ พันธุ์ระยอง 5 ระยอง 7 ระยอง 9 และ CMR35-22-196
5. สนับสนุนท่อนพันธุ์มันสำปะหลังแก่เกษตรกร 4 พันธุ์ จำนวน 200 ต้น และ เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมนครสวรรค์ 3 จำนวน 20 ถุง ๆ ละ 3 กิโลกรัม
ผลการให้บริการในภาพรวมดังนี้
1) จำนวนเกษตรกรที่ลงทะเบียนตามแบบคลินิก 01 = 500 ราย
2) จำนวนเกษตรกรที่เข้ารับบริการในคลินิกพืช = 87 ราย
3) จำนวนเกษตรกรที่ได้รับบริการแล้วเสร็จในวันเปิดคลินิก = 87 ราย


19 มีนาคม 2552

ข้อเท็จจริงกรณีมันสำปะหลังเปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ

เมื่อเร็วๆ นี้ นายมานิต อนรรฑมาศ นายอำเภอตากฟ้า ได้เชิญพาณิชย์จังหวัดนครสวรรค์ หน่วยราชการในพื้นที่ ผู้ประกอบการลานมันสำปะหลัง และเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง จาก ต.หนองหลวง อ.ท่าตะโก และ ต.อุดมธัญญา อ.ตากฟ้า เพื่อร่วมหารือปัญหามันสำปะหลังเปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ ลานมันไม่รับซื้อ เกษตรกรขายหัวมันสำปะหลังไม่ได้ราคา ต้องขอให้หน่วยงานราชการเร่งช่วยเหลือ

สาเหตุที่ผู้ประกอบการลานมันไม่ต้องการรับซื้อหัวมันสำปะหลังในเขตพื้นที่ปลูกดังกล่าว เนื่องจากมันสำปะหลังมีเนื้อแป้งสีเหลืองฉ่ำน้ำ เปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ เยื่อใยสูง โดยมาตรฐานการรับซื้อหัวมันสำปะหลังของลานมันที่ตั้งไว้ต้องมีแป้งไม่ต่ำกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ เมื่อทราบถึงปัญหา นายอำเภอตากฟ้า และพาณิชย์จังหวัด ได้ขอความร่วมมือให้ลานมันช่วยซื้อหัวมันสำปะหลังของเกษตรกรที่มีแป้งไม่ต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรให้ขายหัวมันสำปะหลังได้ ด้วยราคาตันละ 900 บาท และราคาเพิ่มขึ้นลดลงตามเปอร์เซ็นต์แป้ง

นายพิเชษฐ์ กรุดลอยมา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ได้มอบหมายให้คณะนักวิชาการเกษตรของศูนย์ฯ เข้าตรวจสอบสภาพพื้นที่และพันธุ์มันสำปะหลังที่เกษตรกรเรียกว่า ระยอง 90 ในพื้นที่ ต.อุดมธัญญา อ.ตากฟ้า พบว่า มีเปอร์เซ็นต์แป้งของหัวมันสำปะหลังที่ทำการสุ่มวัดสูงสุด 26 เปอร์เซ็นต์ และต่ำสุด 19.85 เปอร์เซ็นต์ โดยพันธุ์มันสำปะหลังที่เกษตรกรปลูก มีเนื้อแป้งสีเหลือง ไส้กลวง ฉ่ำน้ำ หัวใหญ่ ผลผลิตดี ทนแล้ง ลำต้นตั้งตรง ไม่แตกกิ่ง เก็บต้นไว้ทำพันธุ์ได้ดี ลักษณะดินที่ปลูกเป็นดินทราย และ ดินร่วนปนทราย ผลการตรวจสอบพันธุ์มันสำปะหลังโดยคณะนักวิชาการเกษตรจากศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ และศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง พบว่า พันธุ์มันสำปะหลังที่เกษตรกรปลูกไม่ใช่พันธุ์ระยอง 90 แต่เป็นพันธุ์ที่นักวิชาการเกษตรได้เคยนำมาทำการทดสอบพันธุ์ในไร่เกษตรกร ซึ่งมีลักษณะทางเกษตรบางอย่างไม่ดี จึงไม่ได้รับการรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร แต่เกษตรกรชอบเนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง หัวใหญ่ ทนแล้ง เก็บต้นไว้ทำพันธุ์ได้ดี จึงปลูกเก็บไว้ทำพันธุ์กันต่อมาเป็นเวลาประมาณ 10 ปี โดยลักษณะของพันธุ์ที่เกษตรกรเรียกว่าระยอง 90 เป็นพันธุ์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับพันธุ์ระยอง 9 แต่เนื้อแป้งมีสีเหลือง ฉ่ำน้ำ เปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ ไม่เป็นที่ต้องการของโรงแป้ง ประกอบกับการปฏิบัติดูแลรักษาในการปลูกมันสำปะหลังของเกษตรกรไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากดินที่ปลูกมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ แต่เกษตรกรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 20 กก./ไร่ เท่านั้น ไม่มีการปรับปรุงบำรุงดินแต่อย่างไร

นายดาวรุ่ง คงเทียน นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวทางในการจัดการเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพแป้งของมันสำปะหลัง โดยแนะนำให้เกษตรกรเปลี่ยนมาปลูกพันธุ์ระยอง 9 ที่มีลักษณะของพันธุ์ใกล้เคียงกับพันธุ์เดิมที่เกษตรกรปลูก แต่มีเนื้อแป้งสีขาว ให้แป้ง 24 เปอร์เซ็นต์ ในฤดูฝน และให้แป้ง 28-31 เปอร์เซ็นต์ ในฤดูแล้ง ผลผลิตประมาณ 4.9 ตัน/ไร่ ดินที่ปลูกเป็นดินทราย ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ จึงแนะนำให้เกษตรกรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-7-18 อัตรา 100 กก./ไร่ และเพื่อให้การผลิตมันสำปะหลังมีความยั่งยืน เกษตรกรควรใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับใช้ปุ๋ยอินทรีย์ 1-2 ตันไร่ หรือร่วมกับการไถกลบซากต้นใบมันสำปะหลังสด 3 ตัน/ไร่ หรือร่วมกับปุ๋ยคอก 500 กก./ไร่

18 กุมภาพันธ์ 2552

"ตากฟ้า 3" ฝ้ายเส้นใยสั้นสีน้ำตาล

นายพิเชษฐ์ กรุดลอยมา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ เปิดเผยถึงความสำเร็จด้านการพัฒนาพันธุ์พืชไร่พันธุ์ใหม่ของศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ที่มีผลงานอย่างต่อเนื่องจากอดีตถึงปัจจุบัน ได้มีการแนะนำพันธุ์ข้าวโพด ฝ้าย และถั่วเหลือง แก่เกษตรกรหลายพันธุ์ ล่าสุดได้เสนอขึ้นทะเบียนฝ้ายพันธุ์ “ตากฟ้า 3” ซึ่งเป็นฝ้ายเส้นใยสั้น มีสีของเส้นใยสีธรรมชาติ และให้ผลผลิตสูงสำหรับแนะนำแก่เกษตรกร และกลุ่มผู้ผลิตผ้าฝ้ายทอมือ
นางสาวนัฐภัทร คำหล้า นักวิชาการเกษตร ระดับชำนาญการ กล่าวถึงความเป็นมาของฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 3 ว่า ได้มาจากการรวบรวมสายพันธุ์จากแหล่งปลูกฝ้ายในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2528 แล้วทำการคัดเลือกให้มีความสม่ำเสมอในพันธุ์ และมีการประเมินศักยภาพในการให้ผลผลิต ผลการดำเนินงานพบว่า ฝ้ายเส้นใยสั้นตากฟ้า 3 ให้ผลผลิตสูงถึง 285 กิโลกรัม/ไร่ สูงกว่าพันธุ์เดิมซึ่งให้ผลผลิตเพียง 95 กิโลกรัม/ไร่ นอกจากนี้ยังมีความต้านทานต่อโรคใบหงิกและโรคเหี่ยว ทนต่อการเข้าทำลายของแมลงทั้งชนิดปากดูดและปากกัด ลักษณะเด่นของฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 3 คือ มีสีเส้นใยตามธรรมชาติเป็นสีน้ำตาลเข้ม ไม่จำเป็นต้องมีการฟอกย้อมด้วยสารเคมี เหมาะสำหรับนำไปใช้เป็นวัตถุดิบงานหัตถกรรมสิ่งทอซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบและมีปริมาณความต้องการใช้มากขึ้น

เนื้อหา