30 พฤษภาคม 2560

อาการผิดปกติของมันสำปะหลังที่เกิดจากสารกำจัดวัชพืช

มันสำปะหลังที่ปลูกในพื้นที่ใกล้เคียงกับพืชไร่ชนิดอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งไร่อ้อย  มักประสบปัญหาการปลิวของละอองสารกำจัดวัชพืชจากการใช้ในแปลงข้างเคียงมาสู่แปลงมันสำปะหลัง ทำให้มันสำปะหลังมีอาการผิดปกติ

ในที่นี้ได้รวบรวมลักษณะอาการผิดปกติของมันสำปะหลังที่เกิดจากการได้รับสารกำจัดวัชพืชชนิดที่เป็นปัญหา เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยแก่นักวิชาการ หรือผู้เกี่ยวข้องต่อไป

พาราควอท
ส่วนใหญ่การกำจัดวัชพืชโดยใช้พาราควอทไม่ค่อยเป็นปัญหาต่อมันสำปะหลังนัก หากพ่นอย่างระมัดระวัง แต่ก็พบเกิดขึ้นบ้างในเกษตรกรบางราย อาการที่พบเมื่อมันสำปะหลังได้รับสาร ใบจะเกิดจุดตายสีขาว บางครั้งจุดตายลามติดกันหากได้รับสารมาก (ภาพที่ 1 และ 2)
ภาพที่ 1

ภาพที่ 2


ไกลโฟเสท
หากมันสำปะหลังได้รับสารขณะต้นยังเล็ก จะทำให้แคระแกร็น หยักใบแคบลง เรียวเป็นเส้น (ภาพที่ 3 และ 4)

ภาพที่ 3


ภาพที่ 4


ไดยูรอน
เกษตรกรส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าไดยูรอนไม่เป็นพิษต่อมันสำปะหลัง เนื่องจากในฉลากแนะนำให้ใช้กำจัดวัชพืชในไร่มันสำปะหลัง แต่หากใช้ไม่ถูกช่วงเวลา เช่น พ่นในแปลงมันสำปะหลัง หลังจากที่มันสำปะหลังแตกใบแล้ว หรือ ใช้ในปริมาณที่มากเกินคำแนะนำ จะมีผลต่อมันสำปะหลังได้ นอกจากนี้มันสำปะหลังที่ปลูกใกล้กับไร่อ้อยที่มีการพ่นไดยูรอนเพื่อกำจัดวัชพืช  ก็มีความเสี่ยงที่มันสำปะหลังจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก (ภาพที่ 5,6,7 และ 8)

ภาพที่ 5

การพ่นไดยูรอนเพื่อควบคุมวัชพืชก่อนงอก แต่พ่นหลังจากต้นมันสำปะหลังแตกใบแล้ว จะทำให้มันสำปะหลังใบเหลือง ใบไหม้

ภาพที่ 6

การพ่นไดยูรอนเพื่อควบคุมก่อนวัชพืชงอก หากใช้ปริมาณมากเกินไป ไดยูรอนที่ตกค้างในดินจะถูกรากมันสำปะหลังดูดขึ้นมา ทำให้มันสำปะหลังเกิดอาการใบไหม้ โดยบางใบจะเห็นเส้นใบเป็นสีขาว

ภาพที่ 7

ใบแก่จะเห็นเส้นใบเป็นสีขาวชัดเจน ในต้นที่รากดูดซึมไดยูรอนขึ้นมา

ภาพที่ 8

พื้นที่ของเกษตรกรบางรายมีปัญหาวัชพืชขึ้นหนาแน่น จึงคิดว่าการพ่นสารในปริมาณมาก จะทำให้ควบคุมวัชพืชได้นาน จึงใช้ไดยูรอนในปริมาณมาก เช่น 5 เท่า ของอัตราแนะนำ สารไดยูรอนจะตกค้างในดินนานเกือบ 6-7 เดือน รากจะดูดสารขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ใบมันสำปะหลังไหม้ บางครั้งต้นแห้งตาย ส่วนใหญ่จะพบการตายเป็นหย่อมในบริเวณที่มีสารตกค้างมาก

อทราซีน
มันสำปะหลังที่ได้รับสารอทราซีน ใบจะเหลือง หากได้รับสารในปริมาณมาก ใบจะไหม้ (ภาพที่ 9 และ 10)

ภาพที่ 9


ภาพที่ 10


อมิทริน
อาการผิดปกติหลังจากได้รับสารอมิทริน ใบจะเหลืองซีด จนถึงใบไหม้สีน้ำตาลแดง (ภาพที่ 11,12 และ 13)

ภาพที่ 11


ภาพที่ 12


ภาพที่ 13


ทูโฟดี (2-4, D)
อาการที่เกิดกับมันสำปะหลังเมื่อได้รับสารทูโฟดี มีหลายแบบ ทั้งใบไหม้ และการเจริญที่ผิดปกติ ขึ้นกับปริมาณสารที่ได้รับ อาการจำเพาะของมันสำปะหลังที่ได้รับสารทูโฟดี ได้แก่ อาการใบบิดพลิก กิ่งบวม ลำต้นบวมแตก (ภาพที่ 14,15 และ 16)

ภาพที่ 14


ภาพที่ 15


ภาพที่ 16


นอกจากนี้  ยังพบอาการผิดปกติจากสาเหตุอื่น ที่คล้ายกับอาการที่เกิดจากสารอทราซีนและอมิทริน  ได้แก่ การขาดธาตุเหล็ก ซึ่งต้องพิจารณาข้อมูลอย่างรอบคอบก่อนการวินิจฉัย

ขาดธาตุเหล็ก (Fe deficiency)
มันสำปะหลังบางพันธุ์ เช่น ระยอง 7 และ ระยอง 9 เมื่อปลูกในดินชุดตาคลีซึ่งเป็นดินด่าง โดยเฉพาะในดินชุดตาคลีที่มีเม็ดปูนปะปนอยู่บนหน้าดิน ทำให้มันสำปะหลังมีอาการเหลืองซีดที่ใบยอด ในดินที่ด่างมากใบจะเหลืองทั้งต้น ใบจะไหม้จากล่างขึ้นมา ถึงยอดและทำให้ต้นตายได้ ซึ่งลักษณะความผิดปกติที่เกิดจากดินด่าง จะมีอาการคล้ายกับการได้รับสารอทราซีน และอมิทรินมาก ดังนั้นในการวินิจฉัยสาเหตุความผิดปกติ ควรสอบถามข้อมูลจากเกษตรกรให้ละเอียด ทั้งเรื่องดิน พันธุ์ที่ปลูก การใช้สารกำจัดวัชพืชของเกษตรกรเอง ชนิดของพืชปลูกข้างเคียง หรือมีการปลิวของละอองสารจากแปลงข้างเคียงหรือไม่ (ขาดธาตุเหล็ก ภาพที่ 17,18 และ 19)

ภาพที่ 17


ภาพที่ 18


ภาพที่ 19






เนื้อหา